วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
          ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  เป็นบทความพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเข้าพระทัยในปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนา  เนื่องด้วยชาวนาแต่ละท้องที่ล้วนมีสภาพชีวิตและความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่างกันเลย  แม้ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปอย่างไรก็ตาม
ผู้แต่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 
ลักษณะคำประพันธ์
ร้อยแก้ว  ประเภทบทความ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน
ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา
ความเป็นมา
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์
ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เรื่อง  มณีพลอยร้อยแสง
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533  ในวโรกาสที่พระองค์
ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ  โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รุ่นที่ 41
พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิต
และความทุกข์ของชาวนาที่มีสภาพชีวิตไม่ได้แตกต่างกันนัก
เรื่องย่อ          เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงยกบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนา
          ต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีน  เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า  มิได้มีความแตกต่างกัน  แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก  ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต  คือ  ชาวนาเท่าที่ควร  ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ  ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร  ภูมิศักดิ์และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอความทุกข์ยากของชาวนา  และทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกันเลย
เนื้อเรื่อง
          ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
               เมื่อครั้งเป็นนิสิต  ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของจิตร  ภูมิศักดิ์  อยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด  หรือวิเคราะห์อะไร  เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน  ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน  ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน  ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้
คำศัพท์
          กำซาบ                             ซึมเข้าไป
          เขียวคาว                           สีเขียวของข้าว  ซึ่งน่าจะหอมสดชื่นกลับมีกลิ่นเหม็นคาว  เพราะข้าวนี้เกิดจากหยาดเหงื่อ  ซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากและความชมชื่นของชาวนา
          จิตร ภูมิศักดิ์                      นักเขียนชื่อดังของไทยในช่วง พ.ศ. 2473 - 2509  ที่มีผลงานสำคัญในด้านประวัติศาสตร์  โบราณคดี  ภาษา  และวรรณคดี
          จำนำพืชผลเกษตร             การนำผลผลิตทางการเกษตร  เช่น  ข้าวไปฝากกับหน่วยงานที่รับฝากไว้ก่อนเพื่อเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน
          ฎีกา                                   คำร้องทุกข์  การร้องทุกข์
          ธัญพืช                               มาจากภาษาบาลีว่า  ธญฺญพืช  เช่น  ข้าว  ข้าวสาลี  ข้าวโพด  ที่ให้เมล็ดเป็นอาหารหลัก
          นิสิต                                  ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
          ประกันราคา                       การที่รัฐ  เอกชน  หรือองค์กรต่าง ๆ รับประกันที่จะรับซื้อผลผลิตตามราคาที่กำหนดไว้ในอนาคต  ไม่ว่าราคาในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
          เปิบ                                   หรือ  เปิบข้าว  หมายถึง  วิธีการใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง
          พืชเศรษฐกิจ                     พืชที่สามารถขายได้ราคาดี  พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย  เช่น  ข้าว  ยางพารา  อ้อย  ปาล์มน้ำมัน
          ภาคบริการ                        อาชีพที่ให้บริการผู้อื่น  เช่น  พนักงานในร้านอาหาร  ช่างเสริมสวย
          ลำเลิก                              กล่าวทวงบุญคุณ  กล่าวคำตัดพ้อต่อว่า  โดยยกเอาความดีที่ตนทำไว้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง  เพื่อให้สำนึกบุญคุณที่ตนมีอยู่กับผู้นั้น
          วรรณศิลป์                         ศิลปะในการประพันธ์หนังสือ
          สวัสดิการ                          การให้สิ่งที่เอื้ออำนวยให้ผู้ทำงานมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสะดวกสบาย  เช่น  มีสถานพยาบาล  มีที่พักอาศัย  จัดรถรับส่ง
          สู                                       สรรพนามบุรุษที่ 2  เป็นคำโบราณ
          อาจิณ                               ประจำ
          อุทธรณ์                             ร้องเรียน  ร้องทุกข์
วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
          คุณค่าด้านเนื้อหา
          กลวิธีการแต่ง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  นับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้  ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน  ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย  และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน  คือ
          ส่วนนำ  กล่าวถึงบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  ที่ทรงได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ
          เนื้อเรื่อง  วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์  และองหลี่เชิน  โดยทรงยกเหตุผลต่าง ๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ  เช่น
          "...ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น  ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ "ลำเลิก"  กับใคร ๆ ว่าถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา  คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน..."
          ส่วนสรุป  สรุปความเพียงสั้น ๆ แต่ลึกซึ้ง  ด้วยการตอกย้ำเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา  ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้  ดังความที่ว่า
          "ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ  เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป..."
          สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน  โดยทรงใช้การเปรียบเทียบการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีน  ว่า
          "เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน  คือ  หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง"อ่านต่อ...